สาเหตุของสิวเสี้ยน : สาเหตุการเกิดสิวเสี้ยน ที่จมูก คาง

สาเหตุของสิวเสี้ยน: สิวเสี้ยน เกิดจากอะไร?

สิวเสี้ยนหรือสิวหัวดำ (Blackhead) เป็นอีกหนึ่งปัญหาสิวที่กวนใจใครหลายคน แม้ว่าสิวชนิดนี้อาจไม่ได้สร้างความเจ็บปวดหรือระคายเคือง แต่เมื่อสัมผัสผิวก็จะสามารถรู้สึกได้ถึงความไม่เรียบเนียน และสิวชนิดนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ

สิวเสี้ยนคืออะไร

สิวเสี้ยนเกิดจากไขมันที่ไปอุดตันที่รูขุมขน ทำให้เกิดการเกาะตัวระหว่างเส้นขนในรูขุมขนที่ไม่ได้หลุดร่วงไปตามปกติกับไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง เมื่อเกิดการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จึงทำให้เกิดสีดำ มักพบได้บ่อยในบริเวณจมูก คาง และบริเวณหน้าแก้ม

สาเหตุการเกิดสิวเสี้ยน

1. การใช้เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวที่มีเนื้อหนัก

การใช้เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวบางชนิด อาจก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน รวมไปถึงเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพิ่มความมันให้กับผิว ทำให้เกิดสิวเสี้ยนได้ง่าย

2. การสัมผัสผิวหน้าอย่างรุนแรง

การสัมผัสผิวหน้าอย่างรุนแรง เช่น การสครับ การนวด การถู การบีบสิวเสี้ยน ถือเป็นการรบกวนผิว ส่งผลให้ใบหน้ายิ่งผลิตไขมันมากขึ้น ทำให้ปัญหาสิวเสี้ยนไม่หายไป

3. การใช้สารเคมีลอกผิว

วิธีนี้เป็นการรบกวนผิวไม่ต่างจากการสัมผัสผิวหน้าอย่างรุนแรง ส่งผลให้ใบหน้ายิ่งผลิตไขมันออกมามากขึ้น

4. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ฮอร์โมนมีผลต่อการผลิตไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นที่ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดสิวเสี้ยนได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิด ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วเช่นกัน

5. การเลือกรับประทานอาหาร

การกินอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ส่งผลต่อการผลิตน้ำมันภายในร่างกาย จึงควรลดอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ควรเลือกรับประทานผัก และผลไม้ที่มีกากใยสูง รวมไปถึงเนื้อสัตว์ที่สามารถย่อยได้ง่าย

6. ความเครียด

ความเครียดส่งผลต่อการผลิตของฮอร์โมน และมีผลต่อการผลิตไขมันในร่างกาย การหากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกาย การฟังเพลง หรือการท่องเที่ยว ถือเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ที่มีส่วนช่วยในการลดปัญหาผิวหน้าได้

7. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovarian syndrome หรือ PCOS) หรือการที่เกิดความผิดปกติก่อนมีประจําเดือน (premenstrual syndrome หรือ PMS)

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบเป็นความผิดปกติทางร่างกายที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่คงที่ เมื่อฮอร์โมนเสียสมดุลแล้วอาจทำให้ร่างกายมีความผิดปกติ เช่น ผิวผลิตน้ำมันส่วนเกิน ทำให้เกิดการอุดตันของผิวได้